ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

คำว่า “อังคาร” นั้น หมายถึง ถ่านไม้ ถ่านเผา ถ่านไฟที่กำลังปะทุอยู่

ในคำวัดหมายถึงเถ้าถ่านของศพ ที่เผาแล้ว แต่มักเข้าใจกันว่าหมายถึงอัฐิหรือกระดูกของคนตายที่เผาแล้ว และเมื่อทำพิธีเก็บอัฐิและทำบุญเสร็จแล้วนิยมรวบรวมอังคารห่อด้วยผ้าขาวหรือใส่โถแล้ว ห่อด้วยผ้าขาวนำไปทิ้งแม่น้ำหรือทะเลตอนที่มีร่องน้ำลึก โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้ตายได้อยู่ในสถานที่เย็นๆ โดยไม่มีใครรบกวน เรียกการกระทำอย่างนั้นว่า "ลอยอังคาร"

พิธีการลอยอังคารนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะได้รับคตินิยมมาจากอินเดีย เหตุเพราะคนอินเดียถือว่า แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ชำระบาปได้ ด้วยเหตุนี้การเผาศพจึงชอบที่จะมาเผากันที่ริมแม่น้ำคงคากันมาก ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อจะได้นำกระดูกและเถ้าถ่านทิ้งลงแม่น้ำแห่งนี้ เพราะถ้าไม่ได้สัมผัสกับน้ำในแม่น้ำคงคาแล้วก็จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ หรือไม่หมดบาปนั่นเอง

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการบันทึกในพงศาวดารกล่าวถึง "พิธีการลอยอังคาร" โดยเฉพาะการลอยพระอังคารของบรรดาเจ้านายต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน และสืบเนื่องมากระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวมาแล้วว่า พิธีการลอยอังคารนั้นน่าจะมีที่มาจากประเทศอินเดีย ก็ยังคงมีความซับซ้อนไปอีกชั้นหนึ่ง โดยเชื่อว่าน่าจะมาจากอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก เหตุเพราะถ้าเป็นคติทางพุทธแล้ว มักจะนิยมเผาศพแล้วเอาอัฐิธาตุ (กระดูก) ฝัง และก่อกองดินหรือกองหินตรงที่ฝัง ซึ่งเรียกกันว่า “สถูป”

ดังเช่น อังคารที่เป็นเถ้าถ่านจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า โมริยกษัตริย์ ได้นำไปบรรจุไว้ในสถูปที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษเพื่อสักการบูชาที่เมืองปิปผลิวัน เรียกว่า “อังคารสถูป”

ดังนั้นประเทศไทยจึงรับเอาวัฒนธรรม ประเพณีนี้มาทั้งสองทาง คือ ทั้งฮินดู และพุทธ กล่าวคือสำหรับทางพุทธ ถ้าเป็นคนชั้นสูงก็จะก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุ ถ้าเป็นคนชั้นล่างก็เป็นแต่เพียงฝังอัฐิธาตุ หรือเอาไปกองทิ้งไว้โคนต้น ส่วนพระอังคารหรือถ่านที่เผาพระศพ ก็จะเชิญไปลอยปล่อยไปในแม่น้ำตามคติทางฮินดู เพิ่งมาเลิกลอยพระอังคาร เปลี่ยนเป็นบรรจุเมื่อ รัชกาลที่ ๕ มานี้เอง

www.การลอยอังคาร.com